ทำไมการออกแบบปุ่มในรถถึงไม่ควรใช้หน้าจอ Touch screen ล้วน ?
Pij Pruxus
19 Jun 2024
ไม่กี่วันมานี้ พึ่งมีข่าวที่ มาตรฐานการทดสอบรถยนต์แห่งภูมิภาคยุโรป (Euro NCAP) ได้ออกกฎเพิ่มเติมสำหรับการให้คะแนนความปลอดภัยของรถยนต์ โดยรถรุ่นที่จะได้คะแนนเต็มจะต้องใช้ ปุ่มควบคุมแบบกดเท่านั้น และไม่ใช่ปุ่มกดแบบ Touch screen ล้วนครับ
ซึ่งเชื่อว่าคงทำให้รถยนต์รุ่นที่มีจุดขายเรื่องความปลอดภัยแต่ก็ยังเอาปุ่มควบคุมต่าง ๆ ไปใส่ในหน้าจอ Touch screen กัน สะดุ้งกันไม่มากก็น้อยนะครับ
โพสต์นี้ก็เลยอยากจะมาชวนคุยเกี่ยวกับแง่ Interaction design ว่าปุ่มกดแบบ physical button หรือปุ่มกดแบบดั้งเดิม ที่ดูเช้ยเชยเนี่ย ทำไมมันถึงส่งผลให้เกิดความปลอดภัยมากกว่าปุ่มบนหน้าจอ Touch screen จน Euro NCAP ต้องนำไปใส่เป็นเกณฑ์เพิ่มเติมครับ
หลักการ Interaction design ของการใช้งานปุ่มต่าง ๆ
เวลาที่เราออกแบบ interaction หรือ การควบคุมใช้งานระบบต่าง ๆ นั้น โดยพื้นฐานแล้ว ระบบจะต้องมีการสื่อสารไปมากับทาง users ตลอด หรือมี users มีการ “ส่ง output” ไปบอกระบบว่าต้องการทำอะไร และ “รับ input” ที่ระบบแจ้งกลับมาว่าเกิดอะไรขึ้น อยู่ตลอดทุกขั้นตอนการใช้งานครับ
ซึ่งถ้าเราพูดถึงแค่ “การกดปุ่ม” อะไรซักอย่าง ก็จะมีขั้นตอนย่อย ๆ ดังนี้ครับ
- User สแกนหาปุ่มที่ต้องการกด
- เล็งนิ้วให้ตรงปุ่มนั้น ๆ
- ออกแรงกดปุ่มลงไป
- ปล่อยนิ้ว
- ดูว่าระบบตอบสนองถูกต้องตามที่ต้องการไหม
ในแต่ละขั้น users จะมีการรับ input ที่มาจากระบบอยู่เสมอว่าทำถูกต้องไหม แค่ไหน เช่น ขั้นการสแกนหาปุ่มด้วยลูกตา ก็จะมองหาปุ่มที่คิดว่าตรงกับที่ตัวเองต้องการ เช่น ปุ่มปรับลดแอร์ในรถลงคือปุ่มไหน หรือแม้แต่ขั้นการเล็งนิ้ว ก็ต้องคอยเล็งและปรับนิ้วให้ตรงปุ่มจริง ๆ ก่อน แล้วค่อยกดลงไป นะครับ ซึ่งสิ่งที่ users รับรู้จากระบบนี้ เราเรียกอีกอย่างว่า “Feedback” จากระบบ ก็ได้ครับ (ซึ่งแค่ปุ่มมันอยู่เฉย ๆ users ก็จะมีการมองเพื่อรับรู้ตำแหน่ง ๆ ของปุ่มนั้น ๆ อยู่เรื่อย ๆ หรือเรียกว่า ได้รับ feedback จากระบบ ก็ได้ครับ)
ทีนี้สิ่งนึงที่จะสังเกตเห็นก็คือ การรับ input ของ users จะอยู่ในรูปแบบของ “การมองเห็น” หรือ “vision” เป็นหลักเลย
ซึ่งถ้าเราพูดถึงปุ่มบน iPad ที่เรากดตอนนั่งอยู่บ้าน มันก็พอโอเคใช่ไหมครับที่เรานั่งมองหาปุ่มต่าง ๆ แต่ถ้าพูดถึงตอนที่เรา กำลังขับรถอยู่ แล้วต้องการจะกดปุ่มลดแอร์ มันก็จะเกิดความอันตรายมากขึ้นได้ เพราะ users ต้องละสายตาจากถนนมามองสแกนหาปุ่มที่จะกดครับ
สัมผัสนั้น สำคัญไฉน?
แต่… ไม่ใช่ว่า การมองเห็น จะเป็นวิธีเดียวที่ users จะรับรู้ feedback ของระบบได้ครับ มีอีกวิธีนึงที่เราก็น่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่ ก็คือการใช้การคลำหาปุ่มที่ต้องการ หรือการใช้ “การสัมผัส” นั่นเองครับ
มนุษย์เรามีการใช้การสัมผัสเพื่อหาของในชีวิตอยู่เยอะมาก แต่เรามักจะไม่ค่อยใส่ใจเท่าไหร่ เช่น การควักหา เหรียญสิบในกระเป๋ากางเกง ที่เราจะจับรูปทรงเหรียญแล้วก็พอเดาได้ว่านี่คือเหรียญสิบแน่ ๆ ก่อนจะควักออกมา
หรือการล้วงหากุญแจในเป้ ที่เราไม่ต้องหยิบออกมาดูแต่ใช้แค่การสัมผัสรูปทรงก็รู้ได้ว่านี่คือกุญแจ อะไรแบบนี้นะครับ
หรืออย่าง การขับรถ คนขับรถก็มักจะใช้มือคลำ ๆ เพื่อสัมผัสปุ่มต่าง ๆ เพื่อหาปุ่มที่ต้องการก่อนกด ทำให้ไม่จำเป็นต้องละสายตาจากถนนก็กดถูกปุ่มได้นะครับ
ซึ่งมันทำให้การขับรถปลอดภัยกว่าการต้องหันไปมองปุ่มก่อน ซึ่งมันก็เลยทำให้การออกแบบปุ่มต่าง ๆ (ไม่ใช่แค่ปุ่มในรถ แต่โปรดักส์ physical อื่น ๆ ก็เช่นกัน) จำเป็นต้องดีไซน์ถึงรูปทรงและผิวสัมผัสของปุ่มที่แตกต่างกัน เพื่อช่วยให้ users แค่สัมผัสก็แยกความแตกต่างปุ่มได้ออก และเมื่อใช้งานไปซักพักแล้ว ก็สามารถจำได้ด้วยว่า สัมผัสแบบนี้ คือปุ่มอะไรครับ
การสื่อสารให้ users เข้าใจได้ โดยการสัมผัส นี่เราเรียกว่า “Haptic feedback” ครับ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ดีไซเนอร์ที่ออกแบบระบบที่ users ต้องมีการใช้งานแบบไม่สามารถหันมามองได้ตลอด ควรต้องคำนึงถึงมาก ๆ ครับ
ซึ่ง นี่ก็คือจุดอ่อนหลักของการใช้งานทุกอย่างบน หน้าจอ Touch screen เลยครับ
เพราะผิวสัมผัสทุกอย่างจะหายไปหมด ซึ่งแปลว่า users จะไม่สามารถใช้แค่การสัมผัสเพื่อหาปุ่มได้อีกแล้ว และจำเป็นต้องพึ่งพาการมองเห็นเยอะมาก ซึ่งในกรณีของการออกแบบปุ่มในรถ ปุ่มที่อยู่บน Touch screen จะมีความอันตรายสูงขึ้นเป็นพิเศษในการใช้งานครับ
ยิ่งถ้าเป็นปุ่มที่ users ต้องมีการกดอยู่เรื่อย ๆ ขณะที่ขับรถอยู่ เช่น ปุ่มปรับแอร์ต่าง ๆ การเอาปุ่มเหล่านี้ไปใส่บนจอ Touch screen ก็ยิ่งทำให้การขับขี่อันตรายขึ้นได้มากครับ
การคำนึงถึง Haptic feedback จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการออกแบบปุ่มในรถครับ
สุดท้ายแล้ว การมี Touch screen ก็ไม่ได้แย่เสมอไปครับ เพราะมันสามารถทำให้ควบคุมและดูข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ได้หลากหลายกว่า แต่ยังไงสำหรับปุ่มสำคัญ ๆ ที่ users มีโอกาสกดบ่อยตอนขับรถ ก็ควรจะเป็นปุ่มกดแบบดั้งเดิมเสมอครับ เพื่อลดอันตรายในการใช้งานครับ
ส่วนตัวทางพรักซุสเราก็แอบเชียร์การมีปุ่มกดแบบดั้งเดิมมาอยู่เรื่อย ๆ ครับ เพราะมันใช้ง่ายกว่า และปลอดภัยกว่าถึงบางทีจะดูเชย แต่ usability และ safety ก็ควรต้องมาก่อนความเท่และความสวยงามนะครับ