ปัญหา Information design ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตประจำวัน

Mimopoko
1 Jun 2020

2k

ทุกวันนี้ทางเลือกของคนในการใช้บริการต่างๆ มีเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นบริการทางออนไลน์หรือออฟไลน์ เช่น การซื้อของ การส่งของ การเรียนภาษา หรือ การสั่งอาหารค่ะ ซึ่งคนเราจะพยายามหาช่องทางที่ง่ายและข้อมูลไม่ซับซ้อนที่สุดในการเลือกใช้บริการ ซึ่งหากทางผู้ให้บริการไม่คำนึงถึงความสำคัญของการสื่อสารข้อมูล และทำให้คนงง หรืออ่านไม่รู้เรื่อง คนก็อาจจะเลิกใช้บริการ แล้วหันไปหาบริการจากเจ้าอื่นได้ค่ะ

แต่สำหรับบริการบางอย่างที่คนไม่ได้มีทางเลือกมาก ทำให้หลีกเลี่ยงไปหาเจ้าอื่นไม่ได้ง่าย ๆ เช่น BTS หรือ ทางด่วน ถ้ามีการสื่อสารข้อมูลที่ไม่ดีพอ จะก่อให้เกิดปัญหาต่อคนเป็นจำนวนมากมาย ซึ่งผลกระทบที่เกิดมันก็จะค่อนข้างรุนแรงมากค่ะ

ซึ่งหลักในการสื่อสารข้อมูลให้เข้าใจได้ง่าย จะต้องเกิดจาก 1. การเข้าใจถึงความสำคัญของข้อมูลจุดต่าง ๆ และ 2. แสดงข้อมูลที่คนต้องการหาให้เห็นชัดเจนกว่าข้อมูลอื่น ๆ ค่ะ

บทความนี้ เราเลยจะมาพูดถึงบริการที่คนเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีการยุ่งเกี่ยวกับข้อมูลมากมายที่ก่อให้เกิดปัญหากับคนใช้งานที่ต้องเจอบ่อยๆในชีวิตประจำวันกันค่ะ

1. ป้ายบอกทางบนสถานี BTS

 

เวลาอยู่บนสถานี BTS คุณเคยงงว่าจะต้องขึ้น BTS ฝั่งไหนหรือเปล่าคะ?

ปกติแล้วสิ่งที่คนที่อยู่บนสถานี BTS ที่กำลังจะเดินทางต่อ มักจะมองหาก็คือ ป้ายบอกทางที่จะช่วยบอกให้รู้ว่าต้องขึ้นรถไฟฟ้าขบวนไหน

ซึ่งเมื่อประมาณต้นปีที่ผ่านมา BTS ได้มีการเปลี่ยนป้ายบอกทางในการช่วยดูว่าต้องขึ้นรถไฟฟ้าขบวนไหน จากป้ายเดิมที่ตัวอักษรใหญ่สุดจะบอกว่า รถไฟฝั่งนี้ วิ่งไปยังสถานีปลายทางอะไร ก็เปลี่ยนเป็นบอกชื่อสถานีปัจจุบันแทน และไม่บอกว่าสถานีปลายทางที่รถฝั่งนี้วิ่งไปถึง คือสถานีอะไร ดังรูปด้านล่าง

 

ป้ายบอกทางบนสถานี BTS เวอร์ชันที่เปลี่ยนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเน้นชื่อสถานีปัจจุบันเป็นตัวอักษรตัวใหญ่ค่ะ Credit: https://medium.com/wayfindingbkk/bts-new-directional-sign-f24f038ceaf0

แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดความสับสนในหมู่ผู้ใช้งาน BTS จำนวนมาก โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้ใช้ BTS เป็นประจำ หรือนักท่องเที่ยว ที่ยังจำไม่ได้ว่า รถไฟฟ้าฝั่งไหนวิ่งไปเส้นทางไหนบ้าง และยิ่งในสถานีที่มีหลายสายผ่าน เช่น สถานีสยาม ก็จะยิ่งทำให้เกิดความสับสน และอาจจะทำให้หลงทาง เสียเวลาได้ค่ะ

ซึ่งจริงๆแล้วการเปลี่ยนแปลงตัวอักษรใหญ่สุดของป้ายบอกทางบนสถานี BTS เป็น ชื่อสถานีปัจจุบัน ดูเหมือนจะมีไว้เพื่อช่วยให้ผู้โดยสารที่อยู่บนรถมองเห็นว่าสถานีที่กำลังจอดอยู่ตอนนี้คือสถานีใด เพราะเวลาที่รถไฟฟ้าเพิ่งมาถึง คนบนรถจะไม่แน่ใจว่าตอนนี้ถึงสถานีไหนแล้ว การออกแบบให้ชื่อของสถานีปัจจุบัน เป็นจุดที่เด่นที่สุด คนบนรถจะได้เห็นชัดๆ

แล้วป้ายนี้มีประโยชน์กับผู้โดยสารที่อยู่บนรถจริงๆหรือเปล่า?

จาก tweet ด้านล่างนี้ มีการพูดคุยกันว่าการเปลี่ยนตัวอักษรใหญ่สุดของป้ายบอกทางบนสถานี BTS เป็น บอกชื่อสถานีปัจจุบันนั้น เป็นการแก้ปัญหาให้ผู้โดยสารที่อยู่บนรถจริงๆหรือเปล่า ซึ่งบางคนก็มีความคิดเห็นว่า จริงๆแล้วคนบนรถมองไม่ค่อยเห็นป้ายบอกทางบนสถานี BTS บนชานชาลาที่อยู่ด้านนอกตัวรถเท่าไหร่หรอก

แต่สำหรับสถานีสยาม สิ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือ คนที่อยู่บนสถานีต้องเข้าใจได้ง่ายด้วย ว่ารถแต่ละฝั่งของสถานี วิ่งไปปลายทางไหนบ้างนะคะ เนื่องจากสถานีนี้มีรถถึง 2 สายผ่าน ซึ่งรวม ๆ แล้วก็คือ 4 ปลายทาง ซึ่งมีโอกาสที่คนจะงงมากกว่าสถานีอื่นที่ปกติมีแค่ 1 สายวิ่งผ่านค่ะ

แล้วป้ายนี้ก่อให้เกิดปัญหากับคนบนชานชาลาอย่างไรบ้าง?

ปัญหาที่ 1: สำหรับสถานีสยาม ที่มีทางขึ้น BTS เพื่อไปต่อถึง 4 ปลายทาง ซึ่งปกติคนก็จะงงกันง่ายอยู่แล้ว แต่พอทั้ง 4 ปลายทาง ต่างก็แสดงคำเดียวกันว่า “สยาม” ซึ่งปกติคนเราจะ scan อ่านเร็วๆ เจอคำไหนเด่นขึ้นมาก็จะอ่านแค่คำคำนั้นก่อน ไม่อ่านคำที่ตัวเล็กๆ ทำให้หลายๆครั้งเกิดความงงได้ว่า เอ๊ะ แล้วตอนนี้เราอยู่ที่ไหนกัน มองไปฝั่งไหนก็เจอป้ายเหมือนกันหมดว่าสยาม แล้วเราต้องไปขึ้นรถที่ชานชาลาฝั่งไหน กันแน่ล่ะ?

ปัญหาที่ 2: คือที่ผ่านมา BTS ใช้ระบบที่ให้คนคุ้นชินกับการจำสถานีปลายทางของเส้นที่จะไป (เช่น ถ้าเราอยู่สยาม ต้องการไปอารีย์ เราก็จะดูว่าสถานีปลายทางของเส้นที่จะไปคือหมอชิต แล้วขึ้นรถฝั่งที่ไปหมอชิต) จึงทำให้คนใช้งาน BTS คุ้นเคยกับการมองหาชื่อสถานีปลายทาง แต่สำหรับป้ายนี้ ไม่มีอะไรบอกเลย ว่าสถานีปลายทางของสายนี้คือสถานีอะไร

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ทาง BTS คงได้เห็น feedback ของตัวป้ายที่หลายๆคนบ่นเกี่ยวกับการใช้งานกัน จึงเปลี่ยนรูปแบบของป้ายใหม่ในสถานีสยามและสถานีสำโรง ดังรูปด้านล่าง

 

Credit: https://www.punpro.com/p/bts-new-signboard?

เปรียบเทียบความแตกต่างของป้ายทั้งสองรุ่น

 

จากรูปจะเห็นได้ว่ามีการปรับให้สถานีปลายทางเด่นมากขึ้น (จุดที่ 3) และปรับให้ชื่อสถานีปัจจุบัน (จุดที่ 1) เด่นน้อยลง เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถหารถคันที่ต้องการจะไปได้ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มชื่อสถานีก่อนหน้าและชื่อสถานีถัดไปของสถานีปัจจุบัน (จุดที่ 2) เพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารที่จำแต่ชื่อสถานีถัดไป แต่ไม่ได้จำชื่อสถานีปลายทางได้อีกด้วย

2. ป้ายห้องน้ำ

 

 

 

 

 

ป้ายห้องน้ำก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญมากๆ เนื่องจากว่าเรามักจะปวดเข้าห้องน้ำเวลาอยู่นอกบ้านกันบ่อยๆ จึงมีการมองหาป้ายห้องน้ำกันบ่อย ๆ แต่หลาย ๆ ครั้ง ก็อาจจะมีปัญหาเกี่ยวป้ายเหมือนกันนะคะ

เมื่อไม่นานมานี้ ได้เห็นเพื่อนแชร์ลิงค์นึงมาให้และคิดว่าตลกดี แต่ในความตลกมันก็อาจก่อให้เกิดปัญหาได้นะคะ เหมือนตัวอย่างป้าย 3 แบบข้างล่างนี้ เป็นป้ายที่เรารู้สึกว่าน่าจะมีปัญหาได้ ซึ่งเราลองคิดเล่นๆว่า ถ้าเราปวดห้องน้ำมากๆแล้ววิ่งหาห้องน้ำ ดันมาเจอห้องน้ำ 3 ห้องนี้ (ตามรูปด้านล่าง) ในช่วงเวลาที่ปวดสุด ๆ เราคงจะสะดุดไปนิดนึงนะคะ เพราะในหัวของเรา เราคงจะนึกถึง icon รูปผู้หญิงหรือผู้ชาย เพราะมันเป็นสิ่งที่ common มาก ๆ สำหรับป้ายห้องน้ำ (เป็นสิ่งที่ตั้งแต่เด็กจนโต จะเห็นป้ายห้องน้ำที่มี icon ผู้หญิงกับผู้ชาย)

 

Credit: https://www.demilked.com/funny-creative-bathroom-signs/

เมื่อเห็นป้าย 3 ป้ายด้านบนแล้วคิดกันว่าอย่างไรบ้างคะ?

ส่วนตัวเราคิดว่า..

A: XX XY คืออะไร? แว๊บแรก เห็นแล้วไม่เข้าใจ ว่าหมายถึงอะไร ดูไปดูมา เราคิดว่าอาจจะใช้โครโมโซม ผู้หญิงผู้ชาย มาสื่อเป็นป้ายหน้าห้องน้ำมั้ง?

B: ป้ายห้องน้ำสองอันนี้ เราเห็นแล้วสะดุดนิดนึงนะคะ เราเป็นผู้หญิง เราต้องเข้าห้องไหนข้างไหนกันแน่นะ? สุ่มเสี่ยงต่อการเข้าผิดห้องมากๆ

C: สิ่งแรกที่เห็น แค่ BLA คิดว่าเป็นแค่ sticker พวกตกแต่งเฉยๆ ยังไม่เข้าใจ และเพิ่งมาเห็นเป็น icon ผู้ชายเล็กๆข้างๆทางด้านซ้าย เลยเพิ่งอ๋อ ห้องผู้ชายนี่เอง คือ จะสื่อว่าผู้ชายพูดน้อยรึเปล่าวคะ ผู้หญิงพูดมากหรอ….

ปัญหาคือ ถ้าตอนนี้เราปวดห้องน้ำมาก เราอาจจะวิ่งเข้าไปเลย ไม่คิดอะไรแล้ว ทำให้เข้าผิดห้อง หรือไม่ อีกทีก็ไม่รู้เลยว่านี่คือห้องน้ำด้วยซ้ำ (เช่น รูป A และ C) และวิ่งผ่านไปเลยก็ได้นะคะลองมานั่งคิดๆดู จริงๆแล้วปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะอะไรนะ เราคิดว่าหลายๆครั้งเกิดจากการที่ designer อาจจะใส่อะไรมามากเกินไป จนคนที่ผ่านไปมา ไม่รู้ว่านี่คือห้องอะไร จริง ๆ แล้วคนต้องการดูเพื่อให้รู้ว่า ห้องไหนคือห้องผู้ชาย ห้องไหนคือห้องผู้หญิงเลยคิดว่า จะดีกว่าไหม ถ้าเราทำให้ชัดเจนไปเลย วิธีที่แก้ปัญหานี้อย่างง่ายๆ เราอาจจะยึดหลักที่คนเราเรียนรู้มาตลอดว่า ห้องน้ำชายเป็นรุป icon ผู้ชาย และห้องน้ำหญิงเป็นรูป icon ผู้หญิง?

 

รูปไอคอนพื้นฐาน ที่คนเรียนรู้มาว่าหมายถึงห้องผู้ชาย และห้องผู้หญิง

ซึ่งบางคนอาจจะมองว่า ดูน่าเบื่อ ไม่เก๋เลยอะ แต่มันทำหน้าที่ของป้ายห้องน้ำได้ชัดเจน นั่นคือ “ทำให้คนดู เข้าใจได้ว่าห้องไหนชาย ห้องไหนหญิง”

ซึ่งรูปแบบพื้นฐานของไอคอนห้องน้ำนี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้สวยไม่ได้นะคะ อย่างตัวอย่างด้านล่างนี้ก็เป็นดีไซน์ที่สวย และก็สื่อสารข้อมูลได้ชัดเจนด้วยค่ะ

 

Credit: http://masahiro-minami.com/https://www.wired.comhttps://www.skheme.comhttp://bentuk.com/project/enso/

ดีไซน์ที่ดี นอกจากความสวยแล้ว ยังควรจะต้องสื่อสารได้ชัดเจนตามหน้าที่ของมันด้วยค่ะ ไม่อย่างนั้นความสวยอย่างเดียว อาจจะกลายเป็นการสร้างปัญหาแทนนะคะ

 

ป้ายทางด่วน

 

 

ป้ายทางด่วนเป็นอีก 1 อย่างที่คนขับรถ อาจจะเคยเจอปัญหา เช่น ตามป้ายมาอยู่ดีๆ ทางที่เราตามมันหายไป หรือ อารมณ์แบบว่า นี่เราต้องอยู่เลนไหนกันแน่ บางทีป้ายบอกให้ชิดซ้าย แต่พอชิดซ้ายไปแล้ว มีแยกซ้ายซ้อนแยกซ้ายอีก สรุปต้องชิดซ้ายเลนไหนกันแน่ ซึ่งถ้าเลี้ยวผิดอีกกว่าจะไปกลับรถมาได้ก็ต้องอีกไกล จะหยุดกลางทางก็ไม่ได้ จะชะลอขับบนทางด่วน คันหลังได้บีบแตรพอดี ใครเคยมีประสบการณ์คล้ายกันบ้างคะเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมานี้ เราได้พาที่บ้านไปกินข้าวแถวบางแสน และขากลับเราใช้เส้นทางบูรพาวิถีกลับมาแถวอ่อนนุช ทีนี้ป้ายทางด่วนที่เราตามมา เขียนมาตลอดว่า ทางออกไปอ่อนนุช (ตามรูปด้านล่างนะคะ)

 

ref: google map

เราก็ขับตามป้ายถนนอ่อนนุชมาเรื่อยๆ ผ่านมา 2–3 ป้ายก็เขียนตลอดว่าทางออก ถนนอ่อนนุช พอถึงทางแยกที่เป็นทางออก (รูปด้านล่าง) อยู่ดีๆป้ายอ่อนนุชกลับหายไป แต่มาเขียนว่า พระโขนง คือ คำว่าอ่อนนุชหายไปเลย ซึ่งจริงๆแล้ว บ้านเราอยู่แถวๆนั้น เลยรู้ว่าพระโขนงและอ่อนนุชมันคือละแวกเดียวกัน ถึงแม้ว่าป้ายจะเป็นพระโขนงก็พอจะเดาได้ว่า ไปทางอ่อนนุชได้ แต่.. ถ้าเป็นคนที่ไม่คุ้นเคย จะงงไปนิดๆไหมคะ

 

ref: google map

ปัญหาของกรณีนี้ คือ ป้ายที่บอกทางไม่มีความสม่ำเสมอเลย บอกมาตลอดว่าทางออกไปอ่อนนุช แต่พอถึงทางออกจริงๆ กลับเขียนว่า ‘พระโขนง’ ซึ่งจริงๆ ตรงทางออกนั้น คนที่ตามป้ายอ่อนนุชมาตลอด ก็อาจจะคาดหวังว่า ทางออกก็ควรจะเป็น ป้ายอ่อนนุชเหมือนกัน

จะดีกว่าไหม ถ้าป้ายจะยังคงคำว่า ‘อ่อนนุช’ อยู่ และถ้าอยากบอกเพิ่ม ก็เขียนเพิ่มไป ว่าทางนี้ไป ‘อ่อนนุช’ และ ‘พระโขนง’ ได้ เพื่อกันความสับสนที่คนตามทาง ‘อ่อนนุช’ มาตลอดอีกกรณีที่เจอกับตัวเอง คือ ห้าแยกลาดพร้าว ที่ปกติ เราก็ไม่ได้คุ้นชินกับการขับรถแถวนั้น แล้วเราต้องตั้งสติทุกครั้งที่ต้องขับไปแยกนั้น มีอยู่ครั้งนึง เราต้องขับรถไปส่งน้องที่ดอนเมือง ตอนแรกอยู่เลนขวาสุด แต่พอขับมาเจอป้ายเยอะๆ เราก็อ่านจากป้ายซ้ายสุด ซึ่งตาก็อ่านไปเจอป้ายที่สองจากซ้ายว่าเป็นดอนเมือง เราก็รีบเปิดไฟเลี้ยวซ้าย ค่อยๆ เบี่ยงไปอยู่เลนที่จะไปดอนเมือง แต่พอเขยับมาอยู่แถวๆเลนกลางๆ ที่จะไปรัชโยธิน ตาก็ไปเห็นป้าย ดอนเมืองทางขวาสุด อ้าว! ทีนี้ก็เลยงงมากๆ กลางถนน ว่าตกลงควรไปเลนซ้ายหรือขวา จนทำให้โดนรถที่ตามมาบีบแตรไล่ ซึ่งป้ายที่ไม่ชัดเจนและทำให้คนขับรถงงแบบนี้ อันตรายและอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ๆ เลยนะคะ

 

Credit: http://www.homenayoo.com/the-saint-residences/

เนื่องจากป้ายมันเยอะ และ แบ่งแยกเลนถนนไม่ชัดเจน ถ้าดูบนเลนจะเห็นว่าเป็นเส้นประ ที่ดูเหมือนจะไปได้เหมือนกันหมด ซึ่งจริงๆ ถ้าเราอยู่ผิดเลน มันจะขึ้นสะพานผิดได้จะดีกว่าไหม ถ้าเราจะช่วยเหลือผู้ขับขี่โดยการแบ่งแยกเลนให้ชัดเจนไปเลย เพื่อกันคนขึ้นสะพานผิด เนื่องจากเราอาจจะไม่สามารถยุบเลนถนนดอนเมืองเข้าด้วยกัน หรือ เลนกลับรถทั้งสองเลนเข้าด้วยกันได้ (อาจจะยากเกินไป)

พอดีไป เห็นทางเว็ป Thinkofliving บอกว่าทางหลวงมีการแก้เลนใหม่ ซึ่งอยู่เส้นวิภาวดีขาออก โดยใช้เส้นทึบชัดๆในการแบ่งแยกเลน แถมยังมีทาสีป้ายบนถนน เพื่อเพิ่มการมองเห็น ก็เลยคิดว่า วิธีการแบ่งเส้นเลนทึบนี้ อาจจะนำมาปรับใช้กับแถวห้าแยกลาดพร้าวได้รึเปล่าน้า

 

https://thinkofliving.com

ส่วนตัวเมื่อลองขับรถไปจริงๆ ถือว่าก็ช่วยได้เยอะนะคะ กับการที่มีเส้นแบ่งเลนอย่างชัดเจน ทำให้ไม่สับสน ส่วนป้ายที่ทางสีบนพื้น ถ้าถามว่าอ่านตัวหนังสือบนพื้นถนนไหม ก็ไม่ได้อ่าน เพราะแอบอ่านยากอยู่ อีกเหตุผลนึงคือ เวลาเราขับรถเราจะชินกะการมองทางที่ป้ายด้านบนมากกว่า ตาเราก็จะเหลือบมองขึ้นไปดูป้ายอัตโนมัติอยู่แล้ว ส่วนลูกศรสีเหลืองๆ ในส่วนตัวก็ช่วยนิดหน่อยค่ะ เนื่องจากมันเห็นชัดดีว่า เลนนี้ให้ตรงไป หรือ เป็นเลนกลับรถ


สรุป

จากตัวอย่างที่ยกมาด้านบน จะสังเกตุได้ว่า ปัญหาหลักๆ จะเป็นเรื่องของการออกแบบ จัดวางข้อมูล ที่อาจจะยังไม่สื่อสารให้คนอ่านเข้าใจ บางอย่างนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจ แต่ยังจะเพิ่มปัญหาให้อีกด้วยนะคะ เช่น

  • ป้าย BTS ก่อนจะปรับดีไซน์ใหม่ ที่เน้นคำว่าสยามไปหมด จนทำให้คนที่กำลังมองหาทางไปต่อ ไม่รู้ว่าจะต้องไปทางไหน
  • ป้ายห้องน้ำ ที่ไม่ได้สื่อชัดๆ ว่าห้องไหนผู้ชายหรือผู้หญิง อาจก่อปัญหาให้คนเข้าห้องน้ำผิดได้
  • ป้ายทางด่วน ที่จัดวางป้ายอ่อนนุชมาตลอด แต่พอถึงทางออกกลับเขียนว่าพระโขนง จึงทำให้คนงงได้

ในฐานะของผู้ออกแบบ นี่เป็นสิ่งที่เราต้องคิดตลอดเวลาเลยค่ะว่า นอกจากจะทำให้สวยดูดี แต่การใช้งานจริง ๆ ของคน เราจะทำให้มันดีขึ้นได้อย่างไร เราจะช่วยให้มันดีขึ้นได้อย่างไร หรือแม้กระทั่ง งานที่ออกแบบอยู่ทุกวันนี้ เราอาจจะเป็นส่วนหนึ่ง ที่ช่วยแก้ปัญหาให้คนได้ เหมือนคำพูดของ JOE SOPARANO (A teacher and graphic designer) ที่พูดว่า

“Good design is obvious. Great design is transparent.”

 

เราคิดว่ามันค่อนข้างตรงกับ ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นมากนะคะ เพราะ ในชีวิตประจำวันของเรา ถ้าป้ายรถไฟฟ้า, ป้ายห้องน้ำ หรือ ป้ายทางด่วน ออกแบบมาดีมากๆ เราจะไม่งง ไม่บ่น ไม่สับสน สามารถเดินทางได้อย่างราบรื่น ไร้รอยต่อ 555 ซึ่งจุดนี้ เราคิดว่าเป็นความสำเร็จของผู้ออกแบบนะคะ เพราะมันทำให้คนใช้งาน ไปถึงเป้าหมายได้ราบรื่นนั่นเอง

 


pruxus

About us

We are a Bangkok, Thailand-based UX consulting agency that is passionate in helping our clients overcome their user experience challenges through our systematic user-centered design process.
We firmly believe that focusing on people first is the key to success for any business in the digital era.

Let’s talk

Whether you are looking for some help with UX challenges, want to get in touch with us, or just interested to learn more and request our portfolio, feel free to say hello to us!

Email us

hello@pruxus.com

Message us

 

Follow us